top of page

ปาฏิหาริย์มีจริง! ลาร่า พบคนที่มีสเต็มเซลล์ตรงกันแล้ว


เป็นระยะเวลากว่า 1 เดือนแล้วที่ทั่วโลกได้ช่วยกันรณรงค์โครงการ Match4lara เพื่อช่วยเหลือ ‘ลาร่า คาซาลอตติ’ (Lara Casalotti) นักศึกษาสาววัย 24 ปี ลูกครึ่งไทย-อิตาเลียน ที่ป่วยเป็นโรคลูคีเมียหรือมะเร็งในเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน ในการค้นหาผู้บริจาคที่มีสเต็มเซลล์เข้ากับเธอเพื่อทำการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อย่างเร่งด่วน

ก่อนหน้านี้ ครอบครัวของเธอมีความหวังเพียงริบหรี่ที่จะหาผู้บริจาคที่มีสเต็มเซลล์เข้ากับลาร่าได้ แต่ในที่สุดก็ได้รับข่าวดีจากทีมแพทย์ที่รักษาลาร่าว่าหาคนที่มีสเต็มเซลล์เข้ากันได้แล้ว สำหรับการค้นพบผู้บริจาคที่มีสเต็มเซลล์เข้ากับลาร่าได้ในครั้งนี้ มาจากองค์กรการกุศลด้านผู้ป่วยลูคีเมียในประเทศอังกฤษที่มีชื่อว่า แอนโทนี่ โนแลน (Anthony Nolan) โดยข้อมูลส่วนตัวของผู้บริจาครายนี้ จะถูกเก็บไว้เป็นความลับตามข้อตกลงทางกฎหมาย และหากไม่มีข้อผิดพลาดใดๆการปลูกถ่ายฯจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้

ทาง คุณสุปัญญา (Supanya Casalotti) ซึ่งเป็นคุณแม่ของลาร่า กล่าวด้วยความโล่งใจว่า “ทางครอบครัวรู้สึกซาบซึ้งใจและต้องขอบคุณผู้บริจาคคนนี้เป็นอย่างมาก การหาคนที่มีสเต็มเซลล์เข้ากับลาร่าได้เป็นเหมือนการงมเข็มในมหาสมุทร ที่ผ่านมาเรารู้ว่าเราแทบไม่มีโอกาสเลย แต่การพบเจอผู้บริจาคคนนี้ทำให้เรื่องที่จะรักษาลาร่าให้กลับมาหายเป็นปรกติมีความเป็นไปได้มากขึ้น ขั้นตอนต่อไปคือการทำการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก และยังคงต้องมีการ เตรียมการอีกหลายอย่างก่อนที่จะสามารถทำการปลูกถ่ายฯได้”

เซบาสเตียน (Seb Casalotti) น้องชายของลาร่า กล่าวเพิ่มเติมว่า “พวกเราโชคดีมากๆที่หาคนที่เข้ากันเจอ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีเหมือนลาร่า ยังมีผู้ป่วยลูคีเมียอีกหลายคนที่ยังไม่พบคนที่มีสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้ โครงการ Match4lara จะดำเนินการต่อไปตามที่ได้วางแผนกันไว้แล้ว เพราะเราเชื่อว่าเราจะสามารถช่วยผู้ป่วยคนอื่นๆได้เหมือนกับที่เราได้ร่วมมือกันช่วยพี่สาวของผมไปแล้ว”

ลาร่า กล่าวทิ้งท้ายว่า “ลาร่าหวังอยู่เสมอว่าสักวันจะเจอกับคนๆนั้น แล้วก็ได้เจอจริงๆ ตอนนี้ตื้นตันใจมากๆ ช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงที่หนักมากเพราะจะต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ลาร่าขอให้ทุกคนที่อยากช่วยมาตรวจและลงทะเบียนเป็นผู้บริจาคสเต็มเซลล์กันต่อไปเรื่อยๆ เพราะนี่เป็นหนทางเดียวที่จะเพิ่มโอกาสในการต่อชีวิตให้กับผู้ป่วยคนอื่นๆบนโลกใบนี้ได้ ลาร่าแค่โชคดีที่เจอคนๆนั้น”

สำหรับโครงการ Match4lara เกิดขึ้นใน 3 ทวีปทั่วโลก ในประเทศอังกฤษ อเมริกา ไทย และ อิตาลี โดยมีการเชิญชวนให้คนทุกๆเชื้อชาติ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นชนกลุ่มน้อยและคนที่มีเชื้อชาติผสมเข้าไปตรวจสเต็มเซลล์และลงทะเบียนบริจาคฯกับหน่วยงานที่รับผิดชอบของประเทศนั้นๆ ที่ผ่านมา สื่อต่างชาติ รวมทั้งคนดังระดับโลก ได้ร่วมกันแชร์ข้อมูลผ่านทาง

โซเชียลมีเดียอย่างมากมายเพื่อสนับสนุนโครงการนี้ เช่น นักเขียนชื่อดัง J.K. Rowling, นายกรัฐมนตรีอังกฤษ

David Cameron, นักฟุตบอล Gareth Bale, ดาราตลก Stephen Fry และ ดาราฮอลลีวูด Mark Wahlberg ทำให้ขณะนี้มีผู้เข้าตรวจ และลงทะเบียนบริจาคสเต็มเซลล์แล้วกว่า 20,000 คนทั่วโลก ซึ่งสถิติจากองค์กรการกุศล แอนโทนี่ โนแลน แจ้งว่าเกินกว่า 50%ของผู้บริจาคที่ลงทะเบียนผ่านองค์กรแอนโทนี่ โนแลน มาจากกลุ่มคนหลากเชื้อชาติ ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีโครงการแบบนี้เกิดขึ้น

สำหรับเรื่องราวเบื้องต้นของลาร่านั้น เธอตรวจพบว่าตนเป็นลูคีเมียชนิดรุนแรงเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2558 ระหว่างมาทำวิทยานิพนธ์ในประเทศไทย แพทย์ที่ทำการรักษาแนะนำว่าวิธีการรักษาเดียวที่จะทำให้ลาร่ามีชีวิตรอดอยู่ได้คือการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ (Stem cell transplant) ซึ่งเธอต้องหาผู้บริจาคที่มีค่าทางพันธุกรรม (HLA : human leukocyte antigen) เหมือนกัน 100% จึงจะทำการรักษาได้ แต่เนื่องจากลาร่าเป็น ลูกครึ่งไทย-อิตาเลี่ยน ที่มีการผสมทางพันธุกรรมมาจากหลายเชื้อชาติ จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะหาผู้บริจาคที่มีค่าพันธุกรรมเหมือนกับเธอ โดยจากการศึกษาพบว่าในกรณี ลูกครึ่งอย่างลาร่า จะพบเจอคนที่มีค่าทางพันธุกรรมใกล้กันได้จากคนที่มีเชื้อชาติคล้ายคลึงกับเธอเท่านั้น

ข้อมูลของโครงการ Match4lara ในประเทศไทย

โครงการ Match4lara ในประเทศไทย ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

ในการรณรงค์ให้คนทุกเชื้อชาติเข้ารับการตรวจและบริจาคสเต็มเซลล์เพราะนอกจากลาร่าแล้ว ยังมีผู้ป่วยกว่า 1,900 คน

ที่ยังรอคอยสเต็มเซลล์ที่เข้ากันอยู่

หลังจากมีการรณรงค์ในประเทศไทยมา 1 เดือนเต็ม (ข้อมูลเมื่อวันที่ 7 กพ. 2559) เรื่องราวของลาร่าได้รับความสนใจอย่างมากมายจากสื่อสังคมออนไลน์และสังคมในวงกว้าง ทำให้กระแสความตื่นตัวในการบริจาคสเต็มเซลล์มีเพิ่มสูงขึ้น

คนเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการบริจาคสเต็มเซลล์มากขึ้น โดยขณะนี้มีผู้แจ้งความจำนงมาบริจาคและ

ทดสอบสเต็มเซลล์แล้วกว่า 4,000 คน ทั้งที่เป็นคนไทย คนต่างชาติ รวมถึงคนที่เป็นลูกครึ่งด้วย

ผู้ที่สนใจสามารถทำการบริจาคได้ที่

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

ถนนอังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00 - 16.30 น.

เสาร์-อาทิตย์, วันนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30 - 15.30 น.

โทร. 02 256 4300, 02 263 9600, 02 252 1637 ต่อ 1301, 1310 หรือ 1771

ทำไมต้องมีการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์

ลูคีเมียหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (Acute Myeloid Leukemia) ถือเป็นลูคีเมียชนิดรุนแรงมาก วิธีการรักษาที่ดีที่สุดที่จะต่อชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้ได้ คือการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ (Stem cell transplant) จากผู้บริจาคที่มีค่าพันธุกรรมตรงกัน โดยจะฉีดสเต็มเซลล์จากผู้ให้บริจาคเข้าไปในกระแสเลือด เพื่อให้มีการสร้างเม็ดเลือดดี (healthy cell) ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดต่างๆขึ้นมาใหม่แทนที่เซลล์เม็ดเลือดดีและเซลล์มะเร็งอื่นๆที่ถูกทำลายไประหว่างการทำการรักษาด้วยคีโม

ข้อมูลที่สำคัญ

  • จากสถิติการขึ้นทะเบียนของผู้บริจาคสเต็มเซลล์ที่มีอยู่ทั่วโลกกว่า 26 ล้านคน พบว่า 97% เป็นคนขาว (ยุโรป/อเมริกา) มีเพียง 3% หรือประมาณ​ 800,000 คนเท่านั้นที่เป็นชนกลุ่มน้อย เช่น คนเอเชีย คนแอฟริกา และคนที่มีเชื้อชาติผสม จึงทำให้โอกาสการหาผู้บริจาคที่มีสเต็มเซลล์เข้ากันได้ของผู้ป่วยที่มีเชื้อชาติดังกล่าวนี้มีน้อยมาก และโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่รอดก็มีน้อยลงเช่นกัน

  • จากสถิติของสภากาชาดไทย ตั้งแต่ปี 2545 มีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายฯสำเร็จแล้วทั้งสิ้น 194 ราย ในขณะที่มีผู้บริจาคที่ขึ้นทะเบียนในฐานข้อมูลในประเทศไทยเพียง 182,064 คนเท่านั้น ซึ่งคงยังไม่เพียงพอต่อความน่าจะเป็นที่จะหาคนที่มีสเต็มเซลล์เข้ากันได้ โดยหากเทียบกับคนไทยด้วยกันเองอาจจะมีโอกาสมากที่สุดแค่ 1/50,000 ส่วนลาร่าซึ่งเป็นลูกครึ่งนั้นมีโอกาสเพียง 1/1,000,000 เท่านั้น

  • ในประเทศไทย ผู้ที่มีความประสงค์ที่จะบริจาคสามารถแสดงความจำนงในการตรวจและบริจาคสเต็มเซลล์ไปพร้อมกับการบริจาคเลือด โดยต้องมีอายุตั้งแต่ 18-45 ปี มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีการจำกัดเพศ สัญชาติ หรือกรุ๊ปเลือดของผู้บริจาค

  • การตรวจสเต็มเซลล์ไม่มีความเสี่ยงใดๆต่อสุขภาพร่างกาย เป็นเพียงแค่การเก็บตัวอย่างเลือดจากการบริจาคเลือดไปตรวจหาค่าทางพันธุกรรม (HLA)เท่านั้น

  • ในกรณีที่มีการพบผู้บริจาคที่มีสเต็มเซลล์ตรงกัน จึงจะมีการแจ้งไปยังผู้ที่เคยลงทะเบียนบริจาคไว้ โดยการบริจาคสเต็มเซลล์สามารถทำได้ 2 วิธีคือการบริจาคสเต็มเซลล์ทางกระแสโลหิต และทางไขกระดูก

  • การบริจาคสเต็มเซลล์กว่า 90% เป็นการใช้กระบวนการเก็บสเต็มเซลล์ทางกระแสโลหิต ส่วนการเก็บสเต็มเซลล์จากไขกระดูกจะใช้ในกรณีที่สเต็มเซลล์จากทางกระแสโลหิตไม่เพียงพอต่อการนำไปรักษาเท่านั้น โดยเป็นการเก็บไขกระดูกจากกระดูกเชิงกราน ไม่ใช่จากไขสันหลังตามที่มักเข้าใจผิดกัน

ติดต่อ สอบถาม

match4lara@gmail.com

www.match4lara.com

Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
No tags yet.
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page