top of page
ใครสามารถบริจาคได้บ้าง จำเป็นต้องเป็นลูกครึ่งหรือไม่?
สำหรับผู้ที่มีความประสงค์ที่จะบริจาค ควรมีอายุตั้งแต่ 18-45 ปี โดยไม่จำกัดเพศ หรือสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็นคนไทย ลูกครึ่ง หรือต่างชาติ ทุกคนสามารถช่วยเหลือได้โดยการตรวจเลือดเพื่อเก็บข้อมูลทางพันธุกรรม (HLA Typing)
ในการตรวจหรือบริจาค มีความเสี่ยงต่อสุขภาพหรือไม่ อย่างไร?
การตรวจเลือดเพื่อเก็บข้อมูลทางพันธุกรรม (HLA typing) ไม่มีความเสี่ยงใดๆต่อสุขภาพร่างกาย และคล้ายคลึงกับการตรวจบริจาคเลือดทั่วไป
ในประเทศไทยสามารถไปบริจาคได้ที่ไหน?
สามารถติดต่อไปได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โทร. 02 256 4300, 02 252 1637, 02 263 9600 ต่อ 1301, 1310 หรือ 1771 ทุกวัน จันทร์-ศุกร์ 0800-1600น. และ วันเสาร์-อาทิตย์- นักขัตฤกษ์ 0830-1530น. เพื่อขอทำการ “ตรวจสเต็มเซลล์ เพื่อขึ้นทะเบียนผู้บริจาคสเต็มเซลล์” โดยทางผู้บริจาคสามารถแจ้งทางเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ว่าได้ข้อมูลมาจากแคมเปญ match4lara ทางเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจะอธิบายขั้นตอนการตรวจ พร้อมให้ผู้บริจาคกรอกเอกสารยินยอมก่อนทำการตรวจ
คำถามที่พบบ่อย
สำหรับคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ จะบริจาคได้ที่ไหน?
สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย สามารถตรวจสอบหน่วยงานหรือองค์กรที่รับบริจาคได้ที่หน้า How to Help
สำหรับประเทศอื่นๆในโลก สามารถค้นหาองค์กรที่ขึ้นทะเบียนผู้บริจาคสเต็มเซลล์ในประเทศนั้นๆ ได้ที่ Bone Marrow Donors Worldwide
ต้องมีการเตรียมตัวก่อนการไปบริจาคหรือไม่?
สำหรับผู้ที่ต้องการไปบริจาคสเต็มเซลล์ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ควรเตรียมร่างกายล่วงหน้าในคืนก่อนการบริจาค เพื่อให้ร่างกายมีความพร้อมและสดชื่น ควรรับประทานอาหารอย่างเพียงพอ และดื่มน้ำตามปกติ รวมถึงพักผ่อนอย่างเต็มที่
อยากจะช่วยเหลือแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร?
ขั้นตอนแรกคือการเข้าร่วมลงทะเบียนเป็นผู้บริจาคสเต็มเซลล์ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โดยเจ้าหน้าที่จะทำการเจาะเลือดเพื่อทดสอบหาข้อมูลทางพันธุกรรม (HLA Typing) ซึ่งระบบการตรวจสอบมีความซับซ้อนและต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20 วันในการดำเนินการ เมื่อผลตรวจ HLA ออกมาแล้ว ข้อมูลจะถูกนำไปเก็บไว้ในทะเบียนผู้บริจาคสเต็มเซลล์ และหากมีการตรวจพบว่าผู้บริจาคมี HLA ตรงกันกับผู้ป่วยรายหนึ่งรายใดในโลก ทางศูนย์บริการโลหิตที่ผู้บริจาคเคยลงทะเบียนไว้ จะทำการแจ้งไปยังผู้บริจาคทันที
หลังการทดสอบ จะรู้ได้อย่างไรว่าพบ HLA ที่ตรงกัน?
หลังจากมีการทดสอบพบว่าผู้ที่ขึ้นทะเบียนกับทางศูนย์บริการโลหิตมี HLA ตรงกันกับผู้ป่วยที่รอรับบริจาคอยู่ ทางศูนย์ฯ ที่ผู้บริจาคเคยลงทะเบียนไว้ จะทำการแจ้งไปยังผู้บริจาค สำหรับการบริจาคสเต็มเซลล์จะเป็นไปโดยความยินยอมและเต็มใจจากผู้บริจาคเองเท่านั้นโดยสามารถทำการปฏิเสธการบริจาคได้เช่นกัน
ขั้นตอนการบริจาคเมื่อมี HLA ตรงกันกับผู้ป่วย รวมถึงผลข้างเคียงที่คาดว่าจะได้รับ?
เมื่อตกลงที่จะบริจาคสเต็มเซลล์แล้ว ศูนย์บริการโลหิตจะพาไปตรวจสุขภาพเพื่อดูความพร้อมและความสมบูรณ์ของร่างกาย และนำตัวอย่างเลือดส่งไปให้ผู้ป่วยตรวจสอบอีกครั้ง เมื่อได้รับการยืนยันว่าตรงกัน ก็เริ่มขั้นตอนการบริจาค ซึ่งทำได้ 2 วิธี คือ การบริจาคสเต็มเซลล์ทางไขกระดูก และ การบริจาคสเต็มเซลล์ทางกระแสโลหิต โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ที่ ส่วนงานสเต็มเซลล์ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
ผู้บริจาคสเต็มเซลล์จำเป็นต้องมีกรุ๊ปเลือดเดียวกับผู้รับหรือไม่?
การตรวจสเต็มเซลล์เป็นเรื่องของเนื้อเยื่อทางพันธุกรรม (HLA Typing) ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับกรุ๊ปเลือด จึงไม่จำเป็นที่กรุ๊ปเลือดของผู้ให้และผู้รับบริจาคจะต้องตรงกัน
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) คืออะไร และมีวิธีการรักษาอย่างไร?
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์ (Stem Cell) ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดชนิดผิดปกติออกมามากกว่าปกติ และจะไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดปกติ ทำให้จำนวนเม็ดเลือดที่ปกติ (ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด) มีจำนวนลดน้อยลง
bottom of page